ประกาศใช้แล้ว! การส่งข้อมูลบัญชีธนาคาร (ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ) ให้กรมสรรพากร

ประกาศใช้แล้ว! การส่งข้อมูลบัญชีธนาคาร (ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ) ให้กรมสรรพากร

     ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับ พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ วันที่ 21 มีนาคม 2562 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นที่สนใจกับประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนำส่งข้อมูลบัญชีธนาคารที่เข้าเงื่อนไขให้แก่กรมสรรพากร ซึ่งเจตนารมณ์นั้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการนำส่งภาษีและเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี เพื่อเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากในปัจจุบันธุรกรรมด้านการเงินมีการพัฒนามาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

 ใครมีหน้าที่รายงานข้อมูลบัญชีที่เข้าเงื่อนไข?

     สำหรับผู้มีหน้าที่ส่งข้อมูลให้แก่กรมสรรพกร มีดังนี้

  • สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
  • สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
  • ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน

บัญชีที่เข้าเงื่อนไขมีหลักเกณฑ์อย่างไร?

บัญชีที่จะถูกส่งข้อมูลนั้นเป็นได้ทั้งของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ที่เข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

     1.ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป

     2.ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้งและมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินรวมกันตั้งแต่ 2,000,000 บาท ขึ้นไป

     ซึ่งผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลจะตรวจสอบบัญชีในความครองของตนเอง หมายความว่า แต่ละธนาคารก็จะตรวจสอบบัญชีของลูกค้าที่มีกับธนาคารทุกบัญชีรวมกันว่าเข้าเงื่อนไขหรือไม่นั่นเอง

     และจากเงื่อนไขข้อ 1 นั้น หากบัญชีเรามียอดรายการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชี ตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป ไม่ว่ายอดเงินจะเท่าไหร่ก็จะถูกนำส่งข้อมูล ส่วนเงื่อนไขข้อ 2 นั้น จะต้องประกอบกัน 2 อย่าง คือ มียอดฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปถึงจะถูกนำส่งข้อมูล

     **เพิ่มเติม: รายการข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะที่ต้องรายงานตามข้อ 1 และวิธีการรายงาน ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

     จำนวนครั้งหรือยอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินตามข้อ 2 ให้กำหนดเพิ่มขึ้นได้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 เริ่มส่งข้อมูลครั้งแรกวันไหน?

     สำหรับการส่งรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะที่เข้าเงื่อนไขให้กรมสรรพากร ครั้งแรกจะเป็นการนำส่งข้อมูลของปี 2562 ซึ่งจะนำส่งภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563

ธุรกิจค้าขายออนไลน์เตรียมตัวอย่างไรเพื่อเป็นการปฎิบัติให้ถูกต้อง?
     จะเห็นได้ว่าจากพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ มีวัตถุประสงค์ที่เป็นประโยชน์ในหลายด้าน เช่น การอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการนำส่งเงินภาษี การยื่นรายการหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีอากร และเพื่อให้กรมสรรพากรได้รับข้อมูลอันจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดเก็บภาษีอากร

     เป็นปกติอยู่แล้วที่กฎหมายกำหนดให้บุคคลที่มีรายได้ตามที่กำหนดต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี และสำหรับบุคคลใดมีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเป็นปกติและถูกต้องก็ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพียงแค่พยายามเก็บรายละเอียด รายรับและรายจ่าย แสดงรายการยื่นภาษีที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้อง

     ส่วนบุคคลใดที่ไม่เคยยื่นแบบแสดงรายการภาษีเลย ก็ควรเตรียมตัวมากขึ้น หากรู้ว่าตัวเองมีรายได้ที่ต้องยื่นแสดงรายการภาษี ก็ควรเตรียมตัวเก็บข้อมูลรายรับรายจ่าย และจัดทำแบบแสดงรายการและยื่นภาษีที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องเช่นกัน

 หมายเหตุ บทความนี้ให้ความรู้เรื่อง การนำส่งข้อมูลบัญชีธนาคาร (ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ) ให้กรมสรรพากรและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง หากมีข้อผิดพลาดประการใดก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ วันที่จัดทำ 31/03/2562

ขอขอบคุณข้อมูลจากราชกิจจานุเบกษา” พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 แหล่งที่มา: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/034/T_0023.PDF

Leave a Reply