ภาษีซื้อต้องห้าม! สิ่งสำคัญที่ควรรู้
ถ้าพูดถึงเรื่องภาษีซื้อต้องห้ามแล้ว ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมือใหม่บางท่าน อาจจะยังไม่เข้าใจว่าคืออะไร เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเราอย่างไร ซึ่งในบทความนี้จะพูดถึงภาษีซื้อต้องห้ามมีลักษณะอย่างไรรวมถึงบทกำหนดโทษในกรณีที่เรานำภาษีซื้อต้องห้ามมาใช้+++
ภาษีซื้อต้องห้าม หมายถึง อะไร?
ภาษีซื้อต้องห้าม หมายถึง ภาษีซื้อที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่สามารถนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ไม่สามารถขอคืนภาษีซื้อได้
ลักษณะภาษีซื้อต้องห้าม
สำหรับลักษณะของภาษีซื้อต้องห้ามตามกฎหมาย มีรายละเอียดดังนี้
- ไม่มีใบกำกับภาษี หรือไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้
- กรณีใบกำกับภาษีซื้อมีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด
- ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรองหรือเพื่อการอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน
5.ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี
- ภาษีซื้อตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)
เบี้ยปรับเงินเพิ่ม
สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่นำภาษีซื้อต้องห้ามมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษี รวมทั้งต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ดังนี้
- เบี้ยปรับ 1 เท่า
– ไม่มีใบกำกับภาษี หรือไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้
– ใบกำกับภาษีมีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด
– ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
– ภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรองหรือเพื่อการอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน
– ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี
– ภาษีซื้อตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)
- เบี้ยปรับ 2 เท่า
กรณีนำใบกำกับภาษีปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนมาใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
หมายเหตุ :
(1) ใบกำกับภาษีที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า บุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีให้ถือว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอม
(2) ผู้ประกอบการที่นำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้ในการเครดิตภาษี นอกจากต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแล้ว หากเจตนานำใบกำกับภาษีปลอม หรือใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมาใช้ในการเครดิตภาษีต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 200,000 บาท
เงินเพิ่ม
เงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน นับเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้เงินเพิ่มที่คำนวณได้ไม่ให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่ง
***หมายเหตุ สำหรับเบี้ยปรับและเงินเพิ่มยังมีรายละเอียดการคำนวณ ควรศึกษาข้อมูลเพิ่ม!
บทสรุป
สำหรับกิจการที่เข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม การนำภาษีซื้อมาใช้จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเราสามารถนำภาษีซื้อที่ถูกต้องตามข้อกำหนดของกฎหมายมาหักกับภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ หรือ สามารถขอคืนภาษีซื้อได้ แต่ถ้าหากเรานำมาษีซื้อต้องห้ามมาใช้ก็จะมีทั้งเบี้ยปรับเงินเพิ่ม และหากมีเจตนาใช้ใบกำกับภาษีปลอม ก็จะมีโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญา
ดังนั้น ผู้ประกอบการควรทำความเข้าใจในเรื่องของภาษีซื้อต้องห้าม เพื่อที่จะได้รู้ว่าภาษีซื้อแบบไหนเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ไม่สามารถนำมาใช้หักกับภาษีขาย หรือ ขอคืนภาษีซื้อได้นั้นเอง
หมายเหตุ บทความนี้ให้ความรู้เรื่อง ภาษีซื้อต้องห้ามและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง หากมีข้อผิดพลาดประการใดก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ วันที่จัดทำ 05/04/2562
ขอขอบคุณข้อมูลจาก “กรมสรรพากร” เอกสารเผยแพร่ เรื่อง ภาษีซื้อต้องห้าม ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
แหล่งที่มา: http://download.rd.go.th/fileadmin/download/insight_pasi/PasiBan.pdf