ภาษีเงินได้ “นิติบุคคล” คืออะไร..? บทความนี้มีคำตอบ

ภาษีเงินได้ “นิติบุคคล” คืออะไร..? บทความนี้มีคำตอบ

     หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า ภาษีเงินได้นิติบุคคล มาบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นคืออะไร ในบทความนี้จะให้ความรู้เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจ เหมาะแก่เจ้าของธุรกิจและบุคคลทั่วไปที่ต้องการศึกษาหาข้อมูล+++

มาทำความเข้าใจกันต่อ

     ภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ ภาษีอากรประเภทหนึ่งที่บัญญัติไว้ ในประมวลรัษฎากร จัดเก็บจากเงินได้ของบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

ใครมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล..?

     ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ และหมายความรวมถึงนิติบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย ซึ่งสามารถสรุปเป็นภาพรวมหัวข้อหลักๆ ได้ดังนี้

     (1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้แก่: บริษัท จำกัด, บริษัทมหาชน จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด, ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน

     (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย เมื่อเข้าเงื่อนไขข้อกำหนด

     (3) กิจการซึ่งดำเนินการเป็นทางค้า หรือหากำไร โดย (ก) รัฐบาลต่างประเทศ (ข) องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ  (ค) นิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

     (4) กิจการร่วมค้า (Joint Venture) *กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางค้าหรือหากำไร

     (5) มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ *ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล

     (6) นิติบุคคลที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร

*หมายเหตุ: แต่ละหัวข้อยังมีรายละเอียดแยกย่อยไปอีก สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้

นิติบุคคลที่ไม่ต้องเสียภาษี..?

     นิติบุคคลอื่นๆ นอกจากที่กล่าวในข้างต้น และเฉพาะที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เช่น กระทรวง ทบวง กรม องค์การ ของรัฐบาลหรือสหกรณ์ อย่างไรก็ตาม ยังมีนิติบุคคลอีกบางประเภทที่เข้าลักษณะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร แต่ได้รับการยกเว้นตามบทบัญญัติของกฎหมายต่างๆ ได้แก่

(1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ตามสัญญาว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หรือทางเทคนิคระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ

(2) บริษัทจำกัดที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน

(3) บริษัทจำกัดและนิติบุคคลที่มีสภาพเช่นเดียวกับบริษัทจำกัดซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่าง ประเทศได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

(4) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่อยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทย ตามเงื่อนไขที่กำหนดในอนุสัญญา

อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลคำนวณจากกำไรสุทธิ..?

     1.1 กรณีเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตาม (1.2) อัตราร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ

     1.2 กรณีเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชี ไม่เกิน 30 ล้านบาท ต่อเนื่องกัน (SME) ให้คำนวณภาษี ในอัตรา ดังนี้

กำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท                                           ยกเว้น

เกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 3,000,000 บาท                   15%

เกิน 3,000,000 บาท ขึ้นไป                                                         20%

หมายเหตุ บทความนี้ให้ความรู้เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล หากมีข้อผิดพลาดประการใดก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ วันที่จัดทำ 25/03/2562

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจากกรมสรรพากร” หัวข้อเรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล
แหล่งที่มา :  http://www.rd.go.th/publish/308.0.html

Leave a Reply